สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

หนังไทยไปทำอะไรบ้างกับขบวนการสร้าง T-pop

  เขียนโดย อัญชลี ชัยวรพร / 21 มิถุนายน 2554
  LINK : เป้ ท่าทราย ได้รับรางวัลจากแบรี่ เลวินสัน
 
Share |
 

 

 

จริง ๆ แล้ว เดิมตนเองตัดสินใจไว้ว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้ ไม่ได้โกรธเรื่องอะไร แต่เป็นเพราะตัวเองไม่ได้ไป (โปรดติดตามรายละเอียด) ไม่ได้เห็นการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองทั้งหมด จากประสบการณ์ที่ตามเรื่องกิจกรรมหนังไทยในเทศกาลหนังต่างประเทศนั้น ก็รู้ว่าหลายครั้งมันไม่ได้สวยหรู ไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่เขียนตามสื่อฉบับต่าง ๆ และถึงแม้จะสวยหรู หลายครั้งก็รู้ว่ามันเป็นการจัดฉาก

จากการรายงานข่าวหรือการโพสต์ภาพตามเว็บต่าง ๆ ของกิจกรรมหนังไทยในเซี่ยงไฮ้นั้น หลายชิ้นก็เน้นหนักไปในทางให้สีสัน หลายชิ้นก็พูดถึงความสำเร็จ แต่ความสำเร็จที่รายงานนั้น บางครั้งก็ดูจะมีคำถามหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น คะแนนที่ได้มาจากการโหวตนั้น   บางทีก็มาจากเว็บไซต์เดียว ใครคือผู้โหวตให้รางวัลนั้น ๆ ผู้ชนะบางทีก็สวนกระแสกับความเป็นจริงที่เราเห็น

แต่ที่ตัดสินใจเขียนบทความชิ้นนี้ เพราะได้ข้อมูลจากเพื่อนชาวต่างประเทศกับการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการประเมินต่อไป

สำหรับการรุกตลาดภาพยนตร์และบันเทิงไทยในจีน โดยผ่านเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้นั้น เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือและงบประมาณของหน่วยงานราชการหลายหน่วย ไม่ใช่เพราะการเชื้อเชิญจากทางจีนเพียงฝ่ายเดียว

ในส่วนกิจกรรมของหนังไทยในเทศกาล สามารถสรุปได้ดังนี้ (ข้อมูลอาจจะ้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด แต่เท่าที่สัมภาษณ์และสอบถามมา )

- ฝ่ายประเทศจีนเจ้าภาพได้คัดเลือกภาพยนตร์ไทย เพื่อนำไปฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาลทั้งหมด 10 เรื่อง ได้แก่

 - จีทีเอช (รถไฟฟ้ามาหานะเธอ กวนมึนโฮ บ้านฉันตลกไว้ก่อนพ่อสอนไว้ ห้าแพร่ง และกระดึ๊บ)
- พระนครฟิลม์ (เป้ ท่าทราย มือปืน ดาว/พระ/เสาร์ และบางระจัน 2)
- เอ็มเทอร์ตี้ไนน์ (๓๒ ธันวา)
- สหมงคลฟิลม์ (สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก) โดยเฉพาะเรื่องสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก เป็นภาพยนตร์ที่รับเกียรติให้ฉายในการจัดงานไทยไนท์ ณ โรงภาพยนตร์ Shanghai Film Art Center


หนังส่วนใหญ่จะฉายเรื่องละ 5 รอบ ยกเว้น บ้านฉันตลกไว้ก่อน พ่อสอนไว้, บางระจัน 2 และ 5 แพร่งที่ฉาย 2-3 รอบ

 

 

- ดารา และผู้กำกับไปร่วมงานอย่างคับคั่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานรัฐบาลบ้าง หรือไม่ก็ทางต้นสังกัดเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยทางจีนจะช่วยเหลือเฉพาะโรงแรมที่พัก

สำหรับดาราที่ไปร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ มาริโอ เมาเร่อ (สนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย), เต๋อ ฉันทวิชช์, อ้อม สุชารัตน์ และติ๊นา จิตตลีลา, พลอย จินดาโชติ (ไม่ได้รวมป้อง ณวัฒน์ และบี้ เดอะสตาร์ ซึ่งไปร่วมงานในส่วนของเทศกาลทีวีเสียมากกว่า)

ผู้กำกับที่ไปร่วมงาน ได้แก่ ยงยุทธ ทองกองทุน บรรจง ปิสัญธนากุล วิทยา ทองอยู่ยง ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร ยุทธเลิศ สิปปภาค วศิน ปกป้อง

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้กำกับส่วนใหญ่จะสนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ตามการเข้าร่วมของหนังในเทศกาล (ไม่แน่ใจในส่วนของยุทธเลิศ สิปปภาค ซึ่งมีหนังเข้าประกวด) โดยทางเทศกาลสนับสนุนในเรื่องที่พัก

 

 

- การเปิดตลาดแลกเปลี่ยนทางธุรกิจภาพยนตร์ (Film Market) ในการเปิดคูหาเพื่อจำหน่ายภาพยนตร์ของไทยในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 หน่วย

 

- กระทรวงต่างประเทศ ภายใต้การดูแลของกงสุลไทยที่เซี่ยงไฮ้ ไปเช่าพื้นที่ในตลาด โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ได้แก่ บริษัทจีเอ็มเอ็มไทฮับ จำกัด (GTH) บริษัทพระนครฟิล์ม จำกัด บริษัท เอ็มเทอร์ตี้ไนน์ จำกัด

- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่าพื้นที่ในตลาดและคัดเลือกผู้ประกอบการไปส่วนหนึ่ง โดยสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก ตัวอย่างหน่วยงานที่ได้ไป คือ บริษัทกลองชัย พิคเจอร์ จำกัด บริษัทมหากาพย์ จำกัด

 

- กระทรวงต่างประเทศเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Thai Night ณ โรงแรมคราวน์ พลาซ่า ซึ่งเป็นการพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน ก่อนที่จะ เปิดเวทีเจรจาทางด้านธุรกิจภาพยนตร์อย่างเป็นทางการในตลาดแลกเปลี่ยน (Film Market) อีกครั้งหนึ่ง

- การจัดเทศกาลฯในครั้งนี้ ผู้จัดงานได้คัดเลือกโครงการสร้างภาพยนตร์ของนายนนทรีย์ นิมิบุตร และนายเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับ/ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของไทย เข้าร่วมประกวดและเจรจาหาทุนสร้างในโครงการ Co-Production Film Pitch and Catch (Co-FPC)

 

ภาพจากจีทีเอช

- การคัดเลือกนักแสดงดาวรุ่งเอเชีย (Star Hunter) ซึ่งผู้จัดงานได้คัดเลือกจากนักแสดงนำของเอเชีย ตามผลการโหวตของผู้ชมชาวจีน มีนักแสดงของไทยที่ได้รับการคัดเลือกรอบแรกในครั้งนี้ ประกอบด้วย ยิปโซ-รมิตา มหาพฤกษ์พงศ์ คริส หอวัง เต๋อ- ฉันทวิชช์ ธนะเสวี หนูนา- หนึ่งธิดา โสภณ และใบเฟิร์น- พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ โดยนักแสดงที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Star Hunter ได้แก่ เต๋อ- ฉันทวิชช์ ธนะเสวี

ข้อสังเกตุ
1. ทำไมการคัดเลือกนักแสดงดาวรุ่งเอเชียนั้น ไม่มี มาริโอ เมาเรอร์ ติ๊นา จิตตลีลา และอ้อม สุชารัตน์ ซึ่งมีแฟนที่จีนมาต้อนรับที่สนามบินอยู่มากเช่นกัน มาตรฐานในการคัดเลือกตรงนี้ดูจากอะไร และคำว่า Star Hunter นี่มีรากฐานการคัดเลือกเหมือนอย่างโครงการ Asian Star ที่ปูซานเคยทำมาก่อนแล้วหรือไม่

2. ค่ายหนังส่วนหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดจีนมากนัก เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในจีนซึ่งมีอยู่สูงมาก อีกทั้งกฎระเบียบของจีนในการฉายหนังที่จะต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลเสียก่อน เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่บริษัทใหญ่อย่างสหมงคลฟิลม์ไม่ได้ไปออกบูธในครั้งนี้

จริง ๆ แล้ว จีนยังไม่ได้มีการซื้อหนังไทยไปฉายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ถ้าจะมีก็คงเพียงละครเป็นหลัก เท่าที่ผ่านมา ผู้ชมในจีนส่วนใหญ่ติดตามหนังไทยจากการดาวน์โหลดหรือชมตามยูทูป

ประเภทหนังที่ฉายในจีนก็ค่อนข้างจะจำกัด แต่เดิมแล้วหนังผีแทบจะไม่มีโอกาสเลย มีเฉพาะในเทศกาลหนังครั้งนี้เท่านั้นที่ยอมรับการฉาย ห้าแพร่ง

3. แบรนดอน วี นักวิจารณ์สิงคโปร์ ซึ่งได้เข้าร่วมเทศกาลในครั้งนี้ และมีโอกาสดูหนังไทยในเทศกาล 4 เรื่อง คือ สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก รถไฟฟ้ามาหานะเธอ เป้ ท่าทราย และมือปืนดาวพระเสาร์

 

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก จองเต็มตั้งแต่วันแรก

เขายอมรับว่า คนที่ไปดูหนังโรแมนติกคอเมดี้อย่าง สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก และรถไฟฟ้ามาหานะเธอ นั้นเยอะมาก ในส่วนของสิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารักนั้น บัตรรอบแรกของหนังนั้นหมดอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้การจอง ส่วนเขามีโอกาสได้ดูในรอบที่สอง ซึ่งเขาก็บอกว่าคนเต็มโรง จะมีที่นั่งเหลือก็เพียงไม่กี่ที่ ที่น่าสนใจก็คือมีผู้สูงอายุเข้ามาดูหนังทั้งสองเรื่องเยอะมากอย่างน่าแปลกใจ

แต่ขณะเดียวกัน หนังเรื่อง เป้ ท่าทราย และมือปืนดาวพระเสาร์ กลับมีคนดูน้อยมากอย่างน่าแปลกใจ ทั้งที่ เป้ ท่าทราย เป็นหนังประกวดด้วย เขาคิดว่าดาราดังของไทยน่าจะมีบทบาทต่อการสร้างสิ่งที่เรียกว่า t - pop โดยเฉพาะดาราอย่าง มาริโอ้ เมาเรอร์ หรือเคน ธีรเดช

4. เมื่อต้นปีนี้ ผู้เขียนได้ถามเพื่อนชาวอิตาลีที่พำนักในจีน เขากล่าวว่า อะไรก็เกิดขึ้นในจีนได้เสมอ แต่เธอก็ไม่ได้ทราบเรื่อง T-pop ของไทยจนผู้เขียนเล่าให้ฟัง อาจจะเป็นไปได้ว่า กลุ่ม T-pop ของไทยอาจจะยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว โดยเฉพาะละคร เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นประเทศจีนแล้ว จำนวนผู้ที่มาต้อนรับดาราไทยตามสนามบินจึงมีมาก แต่ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้ว อาจจะไม่มากนัก

5. หน่วยงานของรัฐมีบทบาทอย่างมากในการจัดงานครั้งนี้ ทราบมาว่าการเปิดให้สัมภาษณ์ดารานั้นบางครั้งก็เกิดขึ้นที่สถานกงสุล มิใช่ในเวทีเทศกาล

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.