สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

เปิดใจสองผู้กำกับนนทรีย์ และอาทิตย์ กับ 2 โปรเจ็คหนังใหม่

  18 มีนาคม 2551 / รายงานและภาพโดย ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล
  LINK :เสียงตอบรับของบูธไทยและหนังไทยใน Hong Kong Filmart
  ภาพบรรยากาศทั่วไป
   
 
หน้าบริเวณทางเข้าของ  Haf มีการตรวจตราผู้เข้าออกอยู่ตลอด


งานที่สำคัญน้อยที่สุดสำหรับสื่อทั่วไป แต่สำคัญที่สุดสำหรับคนทำหนังคือ The Hong Kong Asia Film Financing Forum หรือชื่อย่อๆ ว่า HAF ที่ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่ามีโครงการของสองผู้กำกับไทยไปร่วมในงานนี้ คือ อาทิตย์ อัสสรัตน์ กับ “Hi Society” และนนทรีย์ นิมิบุตรกับ “The Secret Of The Butterfly” ทั้งสองท่าน ถึงคนหนึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ แต่ต่างก็เป็นชื่อที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ และเมื่อเริ่มต้นทำงานชิ้นใหม่ก็ไม่พ้นที่จะถูกจับตามอง  จึงน่าสนใจไม่น้อยว่าโครงการของพวกเขาจะไปได้ไกลแค่ไหนในงาน HAF ปีนี้

มาถึงห้องของ Secret of the Butterly โดยนนทรีย์ นิมิตบุตร บ้าง

 

นนทรีย์ นิมิบุตร กับ The Secret Of Butterfly

ในเมืองไทย มีสาวสวยผู้หนึ่ง Natra ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนกินผัว มีข่าวลือว่าสามีสองคนก่อนหน้าของเธอเสียชีวิตอย่างปริศนา ส่วนคนที่สามก็โคม่า หลังจากที่เขาโดนลงจากอพาร์ทเมนต์เพราะเห็นภาพหลอน ชาตรี ตำรวจหนุ่มและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กร, ถูกมอบหมายให้สอบสวน แต่ชาตรีตกบ่วงเสน่ห์ในตัว Natra และร่วมรักกับเธอ ในระหว่างที่มีเซ็กส์กัน ชายหนุ่มเห็นรอยประหลาดสีแดงกลางหลังของเธอ หลังจากนั้นชาตรีมีปัญหากับภรรยาที่บ้าน ชาตรีเริ่มพบความผิดปรกติบางอย่าง ที่ห้องของสามีเก่าของเธอเต็มไปด้วยหนังสือว่าด้วยคาถาอาคม และรูปเป็นโหลของหญิงสาวที่มีรอยประหลาดเหมือนกับ Natra  ชาตรีตัดสินใจเข้าไปขุดคุ้ยเรื่องการตายที่เป็นปริศนายังไม่ได้คลี่คลายของพ่อและแม่ของ Natra กลายเป็นว่า นานมาแล้ว แม่ของ Natra โดยชาวบ้านกลุ่มหนึ่งข่มขืนและกักขังเธอ ทำกับเธอราวกับเป็นโสเภณีของเมือง ไม่ช้าผู้ชายกลุ่มนี้ก็พบจุดจบที่น่าสยอง และไม่ช้าเมียของพวกเขาก็ให้กำเนิดเด็กที่มีรอยสีแดงกลางหลัง คนในหมู่บ้านโทษแม่ของ Natra และลงโทษเธออย่างโหดเหี้ยมจนเธอตาย  ส่วน Natra ถูกส่งไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า

หลังจากพบว่าเป็นคำสาปแช่งจากแม่ของNatra หญิงสาวและชาตรีเดินทางไปที่ฝั่งศพแม่ของเธอ และถามสัปเหร่อถึงวิธีแก้ปัญหา สัปเหร่อเตือนว่าคำสาปแช่งนี้จะนำหายนะมาสู่คนทุกคน ชาตรีพยายามแก้ไขด้วยวิธีเหนือธรรมชาติ ในขณะที่กร เขาสืบด้วยวิธีของวิทยาศาสตร์ และพบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากความผิดปรกติของโครโมโซมในร่างกาย ที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นผู้หญิงกระทันหัน เขาเชื่อว่าไวรัสที่ทำเช่นนี้ได้ทำให้มนุษย์เกิดการกลายพันธุ์และ มันเป็นกลไกป้องกันตนเองของผู้หญิงที่ตั้งใจจะแก้แค้นผู้ชายที่ทรมาน ข่มขืน ย้ำยีพวกเธอ กรต้องการเลือดของเธอเพื่อนำมาสกัดแอนตี้ไวรัส แต่ผลของการทำเช่นนั้นกลับสร้างหายนะที่ไม่มีใครคาดถึง


พี่อุ๋ย นนทรีย์ เล่าถึงที่มาของโครงการหนังเรื่องนี้ให้ผมฟังว่า เริ่มต้นจากรอนนี่ ไฟน์แมน ซึ่งเป็น co-production ของ “ปืนใหญ่จอมสลัด” ร่วมกับเขามาก่อน “แล้วเขาก็มีไอเดียว่าเขาอยากจะทำหนังแนวนี้ (เขย่าขวัญ) สักเรื่องหนึ่ง แล้วเขาก็มาถามว่า สนใจไหม พอเราได้อ่านเรื่องที่เขาให้มาเราก็ว่า เออ น่าสนใจ แล้วเราก็เอามาพัฒนาต่อจากเรื่องนั้น ไปไกลมากเลย เอาไปให้เขาดูถามเขาว่าสนใจไหม เขาตอบว่าเขาอยากทำ”

แต่ถ้าหากมีคนเข้าใจว่านี่เป็นโครงการที่ไม่หวังอาศัยทุนไทย ก็ถือว่าเข้าใจผิดเสียแล้ว นนทรีย์ได้พูดถึงตรงนี้ไว้ว่า “จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้หาเงินในเมืองไทยได้ครบหมดแล้วล่ะ แต่การมาหาทุนแบบนี้มันทำให้แบบโปรเจ็คท์เป็นที่รู้จัก ต่อไปในการที่เราจะ pre-sales  (การเสนอขายก่อนหนังเริ่มถ่ายทำ) ก็ง่ายขึ้น แล้วถ้าเราได้ co- production ด้วยแล้วเนี่ย ความเสี่ยงจากการทำคนเดียวก็จะลดน้อยลง แล้วจะได้ขยายตลาดด้วย”

นนทรีย์ นิมิตบุตร กำลังอธิบายถึง Secret Of the Butterfly ให้สื่อมวลชนฟัง

 

สำหรับการทำหนังยุคปัจจุบัน นนทรีย์คิดว่าไม่ควรจะคำนึงถึงแค่การทำเพื่อฉายในประเทศอย่างเดียว นายทุนหลายคนอาจจะเชื่อว่าทำหนังตลกก็จะได้เงิน หนังแอ็คชั่นก็จะได้เงิน หรือแม้กระทั่งหนังผีเอง แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป นนทรีย์มองเห็นว่ามันจะไม่เป็นผลดีต่อวงการหนัง “นักลงทุนที่มีอยู่ในเมืองไทยน้อยเจ้าเนี่ย เขาก็จะลดทุนในการผลิตลง คือทำหนังถูกขึ้น ทำให้คนทำหนังอย่างพวกเราอยู่ไม่ได้ จริงๆ ปัญหาใหญ่คือบริษัทสร้างหนังน้อยเกินไป พอมีน้อยนี่ ทุกค่ายก็จะมีทัศนวิสัยของเขา ที่บอกกันว่าบทไม่ดีนี่ จริงๆ บทดีๆ มีเยอะมาก ผมก็เคยอ่าน แต่เพราะว่าไม่เคยถูกสร้าง มันน่าจะมีการผลัดกันให้มีผู้สร้างหน้าใหม่ขึ้นมา ทำให้เขาอยู่ได้”

อีกอย่างหนึ่งที่นนทรีย์เชื่อว่าต่อไป โครงการหนังของเขาจะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นได้ คือผู้จัดจำหน่ายส่วนกลาง ผู้ที่ช่วยเชื่อมระหว่างคนทำหนังกับโรงฉาย โดยที่ไม่ใช่ค่ายหนัง เพราะถึงแม้จะมีคนให้ความสนใจเรื่องลงทุนอยู่มาก แต่ตัวเขาเองก็เป็นแค่คนทำหนัง  ก็จะได้แต่ทำหนังเพียงอย่างเดียว

สำหรับความคาดหวังเรื่องรางวัล นนทรีย์กล่าวว่าไม่ได้คาดหวังเลย นอกจากอยากให้โครงการนี้เป็นที่รู้จักมากกว่า ส่วนที่มีหลายคนสงสัยว่า ทำไมเขาถึงมีโครงการสร้างหนังเยอะนัก แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำ? นนทรีย์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผมว่าค่อยๆ ทำไป หนังกับญี่ปุ่นมันไม่ง่าย ซีเรียสกว่าทางเรา เพราะเขาเป็นบริษัทที่ค่อนข้างจะแข็งแรง ในเรื่องของการขายการอะไรต่อมิอะไร เขาเลยพิจารณานานนิด อันไหนพร้อมก็ทำครับ”

อาทิตย์ อัสสรัตน์ กับ Hi Society

เรื่องย่อ

ครึ่งแรกของหนังจะเกิดขึ้นที่ชายหาดเล็กๆ อนันดาและแฟนสาวของเขา เมย์  เข้าพักที่โรงแรมริมหาด เขาเป็นนักแสดงที่กำลังจะเล่นหนังเกี่ยวกับสึนามิ และบริษัทผู้สร้างก็ส่งเขามาพักที่นี่  เมย์มาจากออสเตรเลียเพื่อเที่ยวหนึ่งเดือน พวกเขาพบรักกันตอนเรียน แต่ความสัมพันธ์ของคน เมื่อโตขึ้นย่อมเปลี่ยนไป อนันดากลับมาเมืองไทยแล้วกลายเป็นดาราดัง เมย์พบความเปลี่ยนแปลง เธอพยายามทำให้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ทุกอย่างเริ่มตึงเครียด  เธอเลยเลือกที่จะใช้เวลาอยู่แต่ในสระว่ายน้ำ ขณะที่อนันดาก็ไปคอยอยู่ที่กองถ่ายก่อนที่เขาจะต้องเข้าฉากนานสองนาน ในวันสุดท้ายก่อนเธอจะกลับ ขณะที่อนันดาหายไป เมย์ไปเที่ยวทะเลกับคนล้างสระน้ำในโรงแรม ทั้งสองไปจุดสูงสุดที่สึนามิพัดถึง เมย์ระบายความในใจเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งคนล้างสระไม่อาจเข้าใจได้

ครึ่งหลังของเรื่องเกิดขึ้นในหกเดือนต่อมา เมื่อกองถ่ายหนังย้ายมาถ่ายในกรุงเทพฯ อนันดาเพิ่งถ่ายหนังเสร็จแล้วตอนนี้เขาเป็นแฟนกับผู้ช่วยผู้กำกับชื่อจูน ปัญหาแบบครึ่งแรกเกิดขึ้นกับอนันดาอีกครั้ง อนันดายุ่งกับเรื่องต่างๆ คลุกอยู่กับเพื่อนนักเรียนต่างชาติของเขา จูนเจอสิ่งที่ไม่ต่างกับเมย์ ไม่กี่วันก่อนหนังจะฉาย อนันดาป่วยและเข้าโรงพยาบาล เมื่อจูนไปเฝ้าก็พบเมย์ยืนมองดูอนันดาที่กำลังหลับบนเตียงคนไข้  โดยไม่มีการอธิบายว่าเธอเป็นใคร เมย์วางดอกไม้ไว้หัวเตียง เสร็จแล้วเธอก็จากมา เมย์มาหยุดร้องไห้ที่ลานจอดรถ

ต่อจากนั้นอีกหกเดือน อนันดาออกกำลังกายที่ยิมในตอนเช้า แล้วเขาก็มาเขียนจดหมายรักอยู่ข้างสระ แล้วจากนั้นเขาก็ลงแวกว่ายในสายน้ำ เหม่อมองไปบนท้องฟ้า คิดถึงเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเขาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

นี่เป็นโครงการที่มีข่าวมานานก่อนหน้านี้ หลายปีก่อนจะมี Wonderful Town เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่เกิดจากชีวิตส่วนหนึ่งของพี่จุ๊ก อาทิตย์ ที่ผสมปนเปกันระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นอเมริกัน เขาอยากถ่ายทอดแง่มุมนี้ผ่านตัวอนันดา ซึ่งมาเล่นเป็นตัวเอง  แต่ถึงจะมีดารานำที่ดัง แต่งานชิ้นนี้ก็ยังคงเป็นหนังเล็กๆ เช่นเดียวกับเรื่องก่อนหน้า

ใน Wonderful Town อาทิตย์หาทุนทั้งจาก Hulbert Fund และควักส่วนตัวประมาณ 3 ล้านบาท รวมถึงสปอนเซอร์อื่นๆ ส่วนสำหรับเรื่องใหม่ เขาบอกว่าการหาทุนไม่ได้ต่างจากเรื่องแรกเท่าไหร่ “เพราะมันเป็นหนังอินดี้ หมายความว่ามันไม่มีค่าย แต่เรากะว่า เรามีดาราแสดง คุณอนันดา ก็อาจจะลองไปคุยกับค่ายเล็กๆ เดี๋ยวลองดูน่ะ คือตอนนี้ยังไม่เริ่ม แต่มันมีโอกาสที่ค่ายจะสนใจมากขึ้น เพราะเราก็ทำหนังเรื่องแรกไปแล้ว เขาก็เห็นว่า เออ มีศักยภาพพอที่จะทำได้”

อาทิตย์ อัสสรัตน์ เพิ่งลงจากเครื่องกลับจากฝรั่งเศสสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อเช้านี้


อาทิตย์เชื่อว่า การที่หนังได้ไปฉายในเทศกาลหลายๆ ที่  มีผู้จัดจำหน่ายรอบโลก เตรียมเข้าฉายในฝรั่งเศสและอเมริกา ก็น่าจะช่วยทำให้ต่างประเทศสนใจที่จะลงทุนกับ Hi Society ไม่น้อย แต่เขาก็วางแผนที่จะหาเงินจากผู้ผลิตในประเทศด้วย เขาอยากจะลองคุยกับนายทุนไทย อย่างเช่นค่ายไรท์ บียอร์นซึ่งมาเปิดบูธในงานด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยว่าจะมีความเป็นไปได้แค่ไหนในการทำงานร่วมกัน  

อาทิตย์เล่าถึงความคาดหวังจากการมาร่วม HAF ว่า ตัวเขาเองก็ไม่ได้หวังอะไร แค่อยากให้โครงการหนังเรื่องนี้เป็นที่รู้จัก อยากโฆษณาให้คนรู้ว่า ทีมที่ทำ Wonderful Town กำลังจะทำเรื่องใหม่มากกว่า

ห้องสำหรับผู้ี่สนใจจะพูดคุยกับคนทำหนังเรื่อง Hi Society ในภาพคือโสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์


สำหรับทั้งสองท่าน บรรยากาศในวันแรกยังเงียบๆ อยู่ มีสื่อมาสัมภาษณ์บ้าง และมีเพื่อนพ้องเข้ามาทักทายอาทิตย์ไม่ค่อยแปลกใจกับเรื่องนี้ “คนที่มาดูโปรเจ็คท์ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เอาเงินมาให้ พวกเราไม่ใช่จอห์น วู ไม่ใช่หนังบู๊ มันไม่ง่ายขนาดนั้น” แต่พอวันที่สอง นนทรีย์กับอาทิตย์ต่างมีกิจกรรม การพูดคุยกับนายทุนผู้สนใจตลอดทั้งวัน มีนัดติดๆ กันตั้งแต่สิบโมงยันห้าโมงเย็น(เลิกงาน) ทีเดียว 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.