สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
หนังที่ถูกโห่มากที่สุด
  เมนูเบอร์ลิน
   
  จริง ๆ แล้ว สื่อกว่า 3,900 รายที่มาเทศกาลเบอร์ลินนั้น น่าจะเป็นคนเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ และตามนิสัยของคนเยอรมัน พวกเขาไม่ค่อยแสดงออกความรู้สึก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงโห่เลย ไม่ชอบก็เฉย ๆ ชอบก็จะปรบมือนานหน่อย

แต่มันมีหนังอยู่หลายเรื่องจากการประกวดครั้งนี้ที่ถูกโห่ ตั้งแต่น้อยมาก แทบจะไม่ได้ยิน จนถึงดังมาก แสดงมติเป็นเอกฉันท์ โดยเฉพาะช่วงวันหลัง ๆ เสียงโห่ก็จะมากขึ้น โดยเราจะลำดับการวิจารณ์จากหนังทื่ถูกโห่มากที่สุดจนถึงน้อย

Come Rain, Come Shine หม่นเกินไป

 

 

เป็นภาพยนตร์ที่มาเอาเกือบวันสุดท้าย ซึ่งเดิมคิดว่าน่าจะมีคนเยอะ เอาเข้าจริงแล้ว คนน้อยกว่าที่สุด และเมื่อหนังจบ กลายเป็นหนังที่ถูกโห่มากที่สุดจนน่าแปลกใจ
หนังเล่าเรื่องความสัมพัน์ที่เริ่มเสื่อมคลายของสามีภรรยารุ่นเยาว์คู่หนึ่ง ฝ่ายสามีพยายามประสานรอยร้าวนั้นให้กลับคืนมาเหมือนอย่างเดิม ขณะที่ฝ่ายหญิงเเริ่มไม่มีเยื่อใยอย่างเห็นได้ชัด ในตอนแรกหนังจะไม่บอกว่าอะไรคือสาเหตุ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ เราถึงจับความได้ว่าเธอกำลังมีชายอีกคน

ในการนำเสนอความสัมพันธ์ที่บั่นทอนของคู่หนุ่มสาว ผู้กำกับใช้สมมติเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นอยู่กับที่ เริ่มตั้งแต่ฝ่ายสามีขับรถไปส่งภรรยาที่กำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่น ภาพใช้ลองเทคจับภาพคนทั้งสองขณะนั่งรถไปสนามบินนานสิบกว่านามี ก่อนที่จะเปลี่ยนภาพมาที่เหตุการณ์ในบ้านทั้งเรื่องที่เหลือ ฝนตก คนทั้งสองไปไหนไม่ได้ โดยที่ทั้งสองไม่รู้เรื่องสภาวะดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นนั้น มีผลทำให้ถนนที่มุ่งไปสู่กรุงโซลถูกตัดขาด เพราะเหตุน้ำท่วม

การนำเสนอภาพและภาษาหนังต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้รับการควบคุมภายใต้การจัดแสงที่จำกัด การใช้ลองเทค บทสนทนาน้อย เพื่อให้เกิดความตึงครียดของคนทั้งสอง ไม่มีแสงสว่างเกือบตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งเมื่อเกิดเหตุมีแมวแปลกปลอมเข้ามาในบ้าน และเจ้าของแมวถือวิสาสะเดินหาแมวในบ้าน มันยิ่งสร้างภาวะตึงเครียดให้เกิดขึ้นในบ้าน ผู้เขียนยอมรับว่าผู้กำกับลียุนกิสามารถควบคุมทุกอย่างภายใต้ภาวะตึงเครียดตรงนี้ได้อย่างดี และทำให้เรารู้สึกอยากติดตาม น่าแปลกใจที่หนังไม่ได้ทำให้ดิฉันรู้สึกง่วงนอนเลย

แต่ดิฉันยอมรับว่า หนังมันยาวเกินไปในช่วงแรก ๆ มันมีความจำเป็นหรือที่ผู้กำกับจะดำเนินเรื่องแบบทอดน่องเช่นนี้ จนกระทั่งเกิดเหตุแมวแปลกปลอมเข้ามา ก่อนที่จะตามมาด้วยเจ้าของแมวตามหานั่นแหล่ะที่เรื่องมีการพัฒนาขึ้นในช่วงครึ่งหลัง Come Rain, Come Shine เป็นหนังที่เน้นบรรยากาศและอารมณ์ ซึ่งลียุนกิก็ทำได้ดีทีเดียว ขาดจะมีจุดอ่อนไปบ้าง แต่หนังแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะชอบได้ทุกคน แถมเนื้อเรื่องไม่มีอะไร เป็นอะไรที่ฟุ่มเฟือยที่จะมาเก็บซับอารมณ์คนจะเลิกกัน

 

 

 

Our Grand Despir ถูกปฎิเสธมาทุกที่ก่อนมาลงที่เบอร์ลิน

 

 

ข่าวที่เกริ่นมานี้ไม่ได้รู้มาก่อน แต่เพราะหลังจากดูเรื่องนี้แล้ว ทนไม่ได้ไปบ่นให้เพื่อนที่ทำเทศกาลหนังยักษ์ใหญ่ฟัง เขาถึงบอกว่าหนังเรื่องนี้ถูกปฏิเสธมาทั้งคานส์ เวนิส แต่ไม่รู้มาลงที่เบอร์ลินได้อย่างไร
เรื่องราวของเพื่อนสนิทสองคนตั้งแต่มหาวิทยาลัยนามเอเดอร์และเซติน พวกเขาอายุ 30 กว่า ๆ ยังไม่แต่งงาน และแชร์อพาร์ตเมนท์ด้วยกันเหมือนในวัยเรียน จนกระทั่งเพื่อนสนิทอีกคนฝากน้องสาวให้มาอยู่กับเขาด้วย เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตหมดและตัวเขาต้องไปเยอรมนี แรก ๆ เอเดอร์และเซตินรับการเข้ามาอยู่ร่วมชายคาของสาวน้อยนิฮัลไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสนิทสนมได้นำไปสู่รักสามเส้า ทั้งเอเดอร์และเซตินยังคงครองความสัมพันธ์ฉ้นท์เพื่อน พวกเขาเล่าอะไรให้ฟังทั้งหมด เวลาจะไปเที่ยว ก็ไปด้วยกัน

แต่แล้ว หนุ่มทั้งสองได้เป็นเพียงตาอินกับตานาที่ดูแลสาวน้อย ก่อนที่ตาอินจะเอาไปครอง ทำให้นิฮัลท้อง พวกเขาต้องช่วยเธอจัดการปัญหา จนเธอเรียนจบ และบินไปอยู่กับพี่ชายที่เยอรมนี

หนังไม่ใช่หนังเลว แต่ก็ไม่ใช่หนังดี มิตรภาพของเพื่อนสองคนนี้ดูสนุกและน่าสนใจ ว่าผู้ชายจะสนิทกันได้ โดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นเกย์ พวกเขาเปิเเผยเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง แม้จะเป็นคู่แข่งกัน หนังดูสนุกในบางตอน แต่มันไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรกระตุกให้สนใจ เพราะฉะนั้นจึงถูกโห่มากที่สุด ก่อนที่จะมาเจอกับเสียงโห่ของ Come Rain, Come Shine

 

 

 

A Mysterious World เอ่อ ตกลงจะเอาอะไรกันแน่

 


จริง ๆ แล้ว ช่วงหลัง ๆ นี้เวลาที่ดิฉันไปเทศกาลหนังทีไร ดิฉันจะให้ความสนใจกับหนังจากอเมริกาใต้ก่อนเพื่อน หลังจากที่ดูหนังที่ต้องดูตามหน้าที่ อย่างหนังประกวดหรือหนังไทย หนังบราซิลเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังที่หมายตาไว้ตั้งแต่แรก แถมจากการอ่านเรื่องย่อ เนื้อเรื่องชวนน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เอาเข้าใจหนังนี้มีปัญหาหลงทางหลายอย่าง

เรื่องเริ่มจากแอนนากับบอริส หนุ่มสาวอยู่ด้วยกันและสาวเจ้าเริ่มเบื่อ ก็เลยขอแยกกันอยู่ชั่วคราว บอริสต้องย้ายออก และเพื่อแก้เบื่อ เขาตัดสินใจซื้อรถมือสองมาขับ เริ่มไปหาเพื่อนเก่าและขับรถเที่ยว วันหนึ่งเพื่อน ๆ ได้ชวนเขาไปเที่ยวปีใหม่ที่อุรุกวัย บอริสตัดสินใจไปจริง ๆ แต่เมื่อไปถึงแล้ว เขาได้อยู่แต่สนามบิน เขาไม่เจอเพื่อน เมื่อโทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่เพื่อนให้ไว้ ก็เจอแต่โทรศัพท์ตอบรับอัติโนมัติ เขาตัดสินใจกลับบ้าน

อันที่จริง หนังมีอะไรหลายอย่างที่ได้สร้างปมเอาไว้ แต่ดูแล้วไม่เข้าใจ ทั้งความสัมพันธ์ของเขากับแฟนสาวแอนนา ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตของเขากับเพื่อน ในช่วงที่แยกกันอยู่กับแอนนา เขาก็พบกับสาวอีกคน แถมยังมีเรื่องการซ่อมรถมือสองของเขาอีก ในเรื่องย่อได้เขียนไว้ว่า หนังได้ถ่ายทอดชีวิตที่มันสุดจะแปลกในสังคมที่เป็นอัมพาตจากการล่มสลายของเศรษฐกิจ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันน่าสนใจ และหนังไม่ได้ฉายให้เห็นชัดเจน ยกเว้นตอนช่วงใกล้จบ เพราะความไม่ชัดเจนหลายอย่าง ก็เลยถูกโห่ไปในที่สุด

 

 

 

Sleeping Sickness มีอิทธิพลของอภิชาติพงศ์นิด ๆ

 

 

หนังเยอรมนีเรื่องนี้ดูแรก ๆ แล้วก็เป็นเรื่องปัญหาของหนุ่มวัยกลางคนที่รู้สึกแปลกแยกระหว่างสังคมยุโรปกับแอฟริกา เรื่องราวของเอ็บโบ้ ผู้จัดการดูแลโครงการความช่วยเหลือจากเยอรมนีที่ให้กับแอฟริกาในเรื่องสุขภาพด้านต่าง ๆ เพราะความที่งานต้องไปประจำที่แอฟริกา เขาและภรรยา วีร่าต้องทิ้งลูกสาววัยรุ่นให้อยู่ในโรงเเรียนประจำที่เยอรมนี จนกระทั่งเมื่อได้เจอลูกสาวอีกครั้ง พวกเขาก็ยอมรับว่าลูกสาวเปลี่ยนไป วีร่าตัดสินใจย้ายกลับไปเยอรมนี โดยเอ็บโบ้บอกว่าจะบินกลับไปในระยะใกล้ ๆ แต่เขาไม่เคยกลับ จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบสามปี จนเขาตัดสินใจรายงานการไม่ประสบผลสำเร็จของโครงการ "ดูแลผู้ป่วยจากการนอนหลับ" เพื่อให้ผู้ตรวจสอบมาดูและสั่งยกเลิกในที่สุด

หนังที่น่าจะดูเหมือนชีวิตทั่วไป ง่าย ๆ ในตอนแรก เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงครึ่งหลัง ซึ่งทำให้ผู้เขียนเห็นว่าได้รับอิทธิพลของอภิชาติพงศ์อยู่ไม่น้อย ไม่ใช่เพราะเรื่องไปอยู่ในป่าแบบอัฟริกา แต่เพราะแนวคิดหรือการเล่าเรื่อง ช่วงครึ่งแรกมันก็คือชีวิตครอบครัวและการทำงานของเอ็บโบ้ ซึ่งจริง ๆ แล้วตรงนี้มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาโดยงบประมาณการสนับสนุนจากประเทศพัฒนานั้น แท้ที่จริงแล้ว มันไม่ได้ช่วยอย่างแท้จริง เพราะที่ปลายทาง อาจจะไม่ได้มีความต้องการจริง ๆ อย่างเช่น โรงพยาบาลมีคนไข้มารักษาแค่วันละไม่กี่ราย แต่โครงการเหล่านี้กลับทำให้ปัญญาชนในประเทศด้อยพัฒนายิ่งรวยขึ้นเรื่อย ๆ

จนกระทั่งหนังมาถึงจุดที่เอ็บโบ้ล่องเรือไปตามลำธาร และเขาเล่าเรื่องตำนานอัฟริกาที่ชายหนุ่มกลายเป็นฮิปโป ตอนนี้เขาซึ่งเป็นคนยุโรปบอกว่า เขาเชื่อในเรื่องของการแปรสภาพ (transformation) ...เริ่มคุ้นแล้วนะ

แล้วจู่ ๆ หนังก็กลับตัดมาที่ปารีส เป็นเรื่องของหมออเล็กซ์ หนุ่มฝรั่งเศสแต่เชื้อสายคองโกถูกส่งตัวจากหน่วยงานให้มาตรวจสอบโปรเจ็คที่แคเมอรูน ช่วงนี้หนังจะเน้นแต่ชีวิตของหมออเล็กไปเลยกว่า 30 นาที คือทิ้งเรื่องราวของเอ็บโบ้ไปเลย จนกระทั่งหมออเล็กซ์มาที่แคเมอรูน ก็ประสบปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ได้พบกับหมอผู้เป็นหัวหน้าโครงการ "นอนไม่หลับ" สักที เขามาเจออย่างบังเอิญ เมื่อต้องทำคลอดให้กับหญิงสาวแคเมอรูนผู้หนึ่ง ซึ่งก็คือเมียเก็บของเอ็บโบ้นั่นแหล่ะ

คุ้น ๆ แล้วใช่ไหม พยายามคิดว่าเออ คิดมาก แต่ตอนจบ มันทำให้ต้องสรุปออกมาแบบนั้นจริง ๆ เมื่อเอ็บโบ้ หมออเล็กซ์ และเพื่อน ๆ ได้เข้าไปล่าสัตว์ในป่า จู่ ๆ ทุกคน หายไป หมออเล็กซ์ให้คนพื้นเมืองตามไป แต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อคนพื้นเมืองวิ่งหนี หมออเล็กซ์สลบไป

รุ่งเช้า คนพื้นเมืองกลับมาตามหาหมอเอล็กซ์จนเจอ และรับกลับ หมออเล็กซ์หันไปในป่า เห็นฮิบโปโปเตมัสเดินออกมา แล้วหนังก็จบไว้แค่นั้น กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่ถูกโห่ แต่ไม่ดังมาก

คือ แม้ว่าจะได้อิทธิพลของอภิชาติพงศ์อยู่ไม่น้อย ผู้เขียนเห็นว่าหนังเรื่องนี้ก็ใช้ได้นะ

 

The Prize คือมันเป็นหนังเรื่องแรก

 

 

ผลงานของผู้กำกับหญิงพอลล่า มาร์โควิชเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และเธอจะมีอนาคตที่ไปได้อีกไกล

เรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากชีวิตของตัวเอง สมัยที่อยู่ในอเมริกาใต้ หนังนำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิงตัวน้อยคนหนึ่งที่อยู่ตามลำพังกับแม่ ในกระต็อบตั้งอยู่ริมทะเล ไม่มีเพื่อนบ้าน ไม่มีคนรู้จัก อยู่กันตามลำพังแม่ลูก จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็กน้อยตัดสินใจเข้าไปเรียนหนังสือ เธอชอบมาก แม้แม่จะไม่เห็นด้วย และไม่เคยไปลงทะเบียนให้ลูกสาวที่โรงเรียน แม้คุณครูจะฝากเด็กน้อยให้ไปบอกแม่ ที่โรงเรียน เด็กน้อยได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ ชีวิตใหม่ บางครั้งถูกลงโทษเพราะทำความผิด แต่เธอก็ยังดิ้นรนที่จะไปโรงเรียน แม้แม่จะห้ามแล้วห้ามอีก

วันหนึ่งมีทหารกลุ่มหนึ่งมาที่โรงเรียน ครูบอกให้นักเรียนทุกคนเขียนเรียงความเพื่อเข้าประกวดรางวัลแห่งชาติ เด็กน้อยบรรยายความรู้สึกในใจเป็นครั้งแรก ว่า "ทหารได้ฆ่าญาติของเธอทิ้ง ขณะที่เขากำลังเล่นเปียนโน และทหารนี้แหล่ะที่ทำให้พ่อของเธอยังไม่กลับมาเสียที"

เด็กน้อยกลับมาบ้าน เล่าให้แม่ฟัง แม่ตกใจ รีบเก็บข้าวของเตรียมหนีอีกครั้ง ระหว่างที่กำลังรถรถ แม่ได้ซักถามลูกสาวอีกครั้ง ถึงได้รู้ว่า ยังไม่มีใครได้อ่านเรียงความของเธอ ยกเว้นคุณครู เธอรีบไปบ้านของครูในยามดึก ...ครูเพิ่งจะได้อ่านเรียงความเป็นครั้งแรก รีบบอกให้เด็กน้อยเขียนใหม่ เธอบอกว่าไม่รู้จะเขียนอะไร แม่บอกว่าให้เขียนตรงกันข้ามกับที่เคยเขียนมา

ต่อมา ครูแจ้งว่าบทความชิ้นนี้ได้รับรางวัลรุ่นเล็ก แม่ของเธอไม่ให้ไปรับรางวัล แต่เธอขัดความหวังดีของครูไม่ได้ ต้องไปรับรางวัลในที่สุด เด็กน้อยจ้องมองนายทหารอย่างเจ็บปวด

หนังมีลักษณะของหนังอาร์ตอยู่บ้าง โดยไม่ใช้บทพูดมากนักในช่วงแรก ๆ สลับกับการพัฒนามิตรภาพของเด็กน้อยและการเรียนรู้ในโลกใหม่ ปัญหาชองหนังก็คือ ยาวเกินไป ในช่วงครึ่งแรกหนังไม่มีการพัฒนา เนื้อเรื่องซ้ำอยู่กับที่ ถ้าหนังตัดช่วงครึ่งแรกออกไปสัก 20 นาที คงทำให้หนังกระชับขึ้น เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงหลัง

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.