สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
หนังกับรางวัลหมีพันธุ์ุต่าง ๆ จากเบอร์ลินประจำปีนี้
  เมนูเบอร์ลิน
   
 

 

กล่าวกันว่า หนังที่เข้าประกวดในเทศกาลหนังเบอร์ลินปีนี้  ไม่ค่อยจะมีผลงานที่ดีมากนัก  ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นไร  เพราะไม่ได้ไปมา 13 ปี  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ผู้เขียนก็เห็นว่า หนังจัดอยู่ในขั้นใช้ได้  เพราะสมัยโน้นจะมีปัญหาตรงที่ว่าหนังส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่เข้าประกวดออสการ์เป็นหลัก  ถ้าปีนี้ได้ผลงานที่หลากหลายมากขึ้น  ก็ถือว่าใช้ได้

แต่ถ้าให้เปรียบเทียบกับเทศกาลหนังเมืองคานส์แล้ว  ก็กล่าวได้ว่าแทบจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย  หนังสายประกวดของคานส์จะแข็งกว่า  และมีผลงานของผู้กำกับชั้นนำเยอะ  ขณะที่ผลงานของเบอร์ลินปีนี้มีผลงานของผู้กำกับหน้าใหม่มากกว่าครึ่ง  ขณะที่ผู้กำกับมือเก๋า ๆ มีประมาณ 5-6 คน  อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

 

 

เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังอย่าง Nader And Simin, A Separation โดย Asghar Farhadi จะคว้ารางวัลไปหลายตัวเท่าที่เขาจะให้กัน นั่นก็คือ หมีทองคำ หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม  หมีเงินสำหรับนักแสดงนำฝ่ายชาย  หมีเงินสำหรับนักแสดงนำฝ่ายหญิง 

Nader And Simin, A Separation เป็นหนังสองเรื่องแรกที่เขาคาดการณ์ว่าจะได้รางวัลนำอยู่แรก  โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องคิดถึงประเด็นการเมืองเรื่องจาฟาร์ พานาฮี ก็ได้  หนังที่เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ เพียงนิดเดียว  แค่ภรรยาขอแยกกันอยู่กับสามี  ได้ขยายลุกลามไปใหญ่โต  เมื่อซิมินต้องจ้างคนมาดูแลบ้านและเขา  อ่านคำวิจารณ์หนังได้ที่นี่ 

สำหรับผู้กำกับฟาร์ฮาดีนั้นทำหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 5 เคยชนะรางวัลหมีเงินสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจากผลงานก่อนหน้านี้เรื่อง About Elly เมื่อสองปีก่อน 

 

  

 

อีกสองรางวัลนั้นสร้างความแปลกใจอยู่ไม่น้อย  ความจริงสาขานักแสดงปีนี้ถือได้ว่ามีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพราะมีดารานำตัวแม่รุ่นเดอะอย่าง วาเนสสา เรดเกรฟ (จากหนังเรย์ ฟายน์ เรื่อง Coriolanus)  หรือลีน่า ลูเซมิส กับบทสาวรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนความคิดทางการเมืองของสังคมเยอรมันช่วงยุค 1960s ในหนัง If  Not Us, Who? รวมทั้งนักแสดงอิสราเอลนาตาลี อัตติยา ในบทของหญิงที่ถูกชะตาเล่นกระหน่ำต่อชีวิตของเธอใน  Lipstikka

สำหรับผู้ได้รับรางวัลทั้งสามนั้น ได้แก่ ซาเรห์ บายัท ผู้รับบทเป็นราเซียห์ หญิงท้องที่แอบสามีไปรับจ้างทำงาน  เพื่อช่วยปลดภาวะหนี้สินของสามี  เธอแสดงได้จริง ๆ   ทั้งน่าสงสาร  ซื่อ และเชื่อมั่นในความดี 

ส่วนอีกคนคือซารีน่า ฟาร์ฮาดี (เป็นอะไรกับผู้กำกับ) รับบทเป็นเทอเมห์ ลูกสาววัยสิบสี่  จากบทเด็กสาวที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของพ่อแม่  และต้องไปเกี่ยวข้องกับการสืบพยาน  รวมทั้งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้พ่ออย่างซิมินพูดหรือโกหก  ฉากสุดท้ายแสดงให้เห็นแววของสาวน้อยคนนี้อย่างมาก  เมื่อเธอจะต้องเลือกว่าจะอยู่กับพ่อหรือแม่

ส่วนอีกคนก็คือลีลา ฮาทามิ รับบทเป็นนาเดียร์  ภรรยาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวต้นเหตุของหนังทั้งหมด  แต่ขณะเดียวกันเธอก็แสดงให้เห็นฝีมือในฐานะแม่และผู้ที่พยายามไกล่เกลี่ยให้เรื่องยุติลง

 

 

สำหรับรางวัลนักแสดงชายนั้น  จากในรูปสองคนแรกนั้นไม่แปลกใจ เพราะเพย์แมน โมอาดีก็คือผู้รับบทเป็นซิมิน  เขาแสดงได้อย่างลุ่มลึก  มีทั้งความดีและไม่ดีอยู่ในตัว  เป็นลูกชายที่ดูแลพ่อ  เป็นพ่อที่อบอุ่น  เพราะนอกจากจะดูแลทั้งพ่อกับลูกสาวเองแล้ว  เขายังคอยช่วยติวเรื่องเรียนให้ลูกสาวอยู่เป็นประจำ  ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างเรื่องและโกหกได้อย่างไม่มีทางจับได้ 

ส่วนคนกลางคืออาลี อักฮาร์ ชาห์บาซี รับบทเป็นพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์ของซิมิน  เล่นได้ดีค่ะ  แต่คนสุดท้ายนี้แปลกใจหน่อย  บาบัก คาริมิ  แรก ๆ นึกว่าจะเป็นนักแสดงที่เป็นสามีราเซียห์  แต่พออ่านข้อมูลแล้ว  ปรากฏว่าเขาคือผู้พิพากษา  ซึ่งไม่ใช่บทเด่นเลย  เพิ่งจะออกมาในช่วงครึ่งหลังเท่านั้น

 

 

รางวัลกรังค์ปรีซ์เป็นของหนังฮังการีของเบล่า ทาร์เรื่อง The Turin Horse ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายเหมือนกัน  อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

 

 

 

ผู้กำกับยอดเยี่ยม เป็นของอุลริค โคลเลอร์ จากเยอรมนีกับหนังเรื่อง Sleeping Sickness เป็นผลงานเรื่องที่สามของเขา  เป็นหนังที่ถูกโห่ (เล็ก ๆ) เรื่องแรกจากการฉายในรอบสื่อ  มันเป็นหนังที่มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย  ขึ้นอยู่กับมุมมอง  แต่การที่ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม  ก็สร้างความประหลาดใจอยู่ไม่น้อย อ่านคำวิจารณ์์หนังได้ที่นี่

 

 

รางวัลการสร้างงานศิลป์โดดเด่น ได้แก่ การถ่ายภาพและโปรดักชั่นดีไซน์ ให้กับหนังเรื่อง The Prize จากอาร์เจนติน่า ก็รับได้ค่ะ อ่านรายละเอียดและคำวิจารณ์หนังได้ที่นี่

 

 

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Joshua Marston and Andamion Murataj จากบทภาพยนตร์เรื่อง The Forgiveness Of Blood  หนังเรื่องนี้ฉายเอาตอนเกือบจบเทศกาลแล้ว  ฉายเป็นเรื่องสุดท้าย  เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ได้เห็นบทวิจารณ์มากนัก  เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ต้องเผชิญกับกฎทางสังคม  ที่ห้ามไม่ให้คนในครอบครัวออกนอกบ้าน  แม้กระทั่งไปโรงเรียน  เมื่อพ่อผู้นำครอบครัวเกิดไปฆ่าคนตายเข้า  ลูก ๆ ต้องหยุดไปโรงเรียน  หนังเน้นที่ตัวลูกสาวลูกชายวัยรุ่นของเรื่อง  ลูกสาวต้องทำหน้าที่ส่งขนมปังและหารายได้แทนพ่อ  ส่วนลูกชายต้องพบกับความกดดันที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอิสระเหมือนเดิม  มีการต่อสู้ทางความคิดที่ระหว่างการพ่อติดคุกหรือจะให้ครอบครัวติดคุกอยู่ในบ้านเอง  เป็นหนังที่ใช้ได้ทีเดียวค่ะ

 

 

รางวัล Alfred Bauer Prize เป็นรางวัลพิเศษที่สดุดีให้กับอัลเฟรด เบาเออร์ ผู้ก่อตั้งเทศกาล  ถือกันว่าเป็นหนังที่มีการสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ  เป็นหนังการเมืองเพียงเรื่องเดียว Wer wenn nicht wir (If Not Us, Who) โดย Andres Veiel  อ่านรายละเอียดและเทรลเลอร์ตัวอย่างได้ที่นี่
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.