สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
หนังประกวด
  อัญชลี ชัยวรพร / 23 พฤษภาคม 2555
  LINK : เมนูเทศกาลหนังเมืองคานส์
 
Share |
Print   
       
 

Day 8 / 23 พฤษภาคม

 

Post Tenebras Lux (Carlos REYGADAS)

 

 

ไม่ได้รู้สึกไปเอง แต่หลังจากที่ดูหนังเม็กซิกันเรื่อง Post Tenebras Lux เรื่องนี้จบ ดิฉันก็เอ่ยกับเพื่อนต่างชาติว่า เหมือนงานของอภิชาติพงศ์ ....ทุกคนหันหน้ามา แล้วร้องว่า ใช่ ใช่ ผมจะบอกคุณตั้งแต่ตอนดูด้วยกันแล้ว บ้างก็บอกว่าเหมือน ลุงบุญมีระลึกชาติ เลยแหล่ะ

หนังที่ชื่อพิเศษเรื่องนี้ (ไม่มีคำแปลชื่อเรื่อง) เล่าเรื่องราวหลาย ๆ เรื่องทับซ้อนกันอยู่ เรื่องหลักเป็นเรื่องราวของครอบครัวฮวนกับนาตาลี ซึ่งมีลูกสาวลูกชายเล็ก ๆ สองคน เรื่องย่อของหนังบอกว่าทั้งคู่เป็นคนเมืองที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบท แต่ตอนดูไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าทั้งคู่เป็นคนเมืองมาก่อน แค่มีงานเลี้ยงสังสันทน์กับเพื่อนฝูง แต่เมื่อดูหนังแล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้น เราได้เห็นฮวนพานาตาลีไปขายตัว เห็นการประชุมและการใช้ชีวิตของกลุ่มชาวบ้านในชุมชน เห็นทีมฟุตบอลที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ และฉากจบที่แทบไม่มีใครคิดถึง ซึ่งทำให้ทุกคนหัวเราะและปรบมือกันใหญ่ เห็นผีวัวต้นเรื่องและท้ายเรื่อง

Carlos REYGADAS. สลายการเล่าเรื่องที่เราคุ้นเคยออกทั้งหมด หนังไม่ได้รวมเป็นก้อนเดียวกันตามลำดับเหตุการณ์ แต่ได้ก้าวข้ามมิติของเวลาด้วยโครงสร้างหนังที่คล้ายคลึงกับอภิชาติพงศ์มาก จึงไม่แปลกนักที่หนังจะดึงตำนานพื้นบ้านของเม็กซิกันเรื่องผีวัวมาผูกไว้ด้วย (พ่อกลายเป็นผีวัว) เดินเข้าออกบ้านในยามค่ำคืนเพื่อซ่อมแซมบ้าน (ไม่น่าจะเป็นบ้านของเขาเอง แต่เป็นบ้านของเซเว่น เพื่อนที่หักหลังเขาในภายหลัง - สังเกตุได้จากหน้าตาเด็กที่เห็นผีในตอนกลางคืน) ยังไม่หมดค่ะ ความสัมพันธ์ระหว่างจริงไม่จริงยังรวมไปถึงการฆ่าตัวตายของตัวละครหนึ่งด้วยการดึงหัวออกมาเท่านั้น กลายเป็นผีหัวขาดในฉับพลัน การทับซ้อนของมิติเวลายังแสดงออกโดยภาพตัวละครทับซ้อนกัน ซึ่งเขาใช้กล้องพิเศษถ่ายทำ

 

 

แต่หลายคนดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่อง สำหรับตัวผู้เขียนเอง ได้ความหมายอย่างหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูกร้อยเปอร์เซนต์หรือเปล่า เพราะได้ดูเพียงรอบเดียว ดิฉันคิดว่าการที่หนังเสนอให้ตัวละครเป็นคนเมืองมาอยู่ป่านั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเสนอโลกสองโลกของตัวละคร นอกไปจากการทับซ้อนของมิติเวลา แม้หนังจะแสดงให้เห็นฉากเมืองน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งทีจับได้ก้คือหนังเรื่องนี้เกิดสมัยไหนก็ได้ อาจจะเกิดสมัยที่เพลงของนีล ยังรุ่งเรือง (นาตาลีดีดเปียโนเล่นเพลงนี้) หรืออาจจะเกิดในปัจจุบันก็ได้ ทั้งสองมีความหลังอะไรอย่างหนึ่งทั้งคู่ จนทำให้ต้องมาอยู่ชนบท แต่เมื่อมาอยู่แล้ว ความหลังบางอย่างก็ยังตามมา นาตาลียังต้องไปขายตัวเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งการที่ครอบครัวของเธอต้องไปขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ภาพที่เธอพูดฝรั่งเศสเมื่อขายตัวกับทีมฟุตบอลพูดอังกฤษอาจมีนัยถึงการเป็นคนชั้นสองของครอบครัวนี้ที่ยังคงแปลกแยกไปทุกที่ ....หนังอาจจะมีความหมายทางสังคมอยู่ แต่ดิฉันไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซนต์นักค่ะ คงต้องดูอีกรอบ

 

 

On the Road (Walter Salles)

 

 

On the Road ของวอลเตอร์ ซาเลส เป็นนหนังที่ตัวเองอยากดูมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ในฐานะคนรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ และในฐานะที่เขาเคยทำ The Motorcycle Diaries บันทึกอันเป็นจุดเปลี่ยนอุดมคติของเช กูวาร่า แต่ On the Road เป็นเพียงหนังที่เล่าเรื่องการดำเนินชีวิตของนักเขียนอเมริกันรุ่น "บีท" ที่ไม่เห็นพลังและจิตวิญญาณเท่าไรนัก นอกจากคำพูดตอนจบที่แสดงให้เห็นว่า "การเดินทางคือการสร้างพลัง สิ่งที่เหลือมีเพียงแต่ความเหนื่อยอ่อน"

หนังเล่าเรื่องของนักเขียนรุ่น "บีท" (เป็นนักเขียนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สร้างวัฒนธรรมการทดลองเสพยา ร่วมเพศมั่วไปหมด สนใจในต่างศาสนา ปฏิเสธวัตถุนิยมทุกรูปแบบ) โดยให้แซล พาราไดซ์เป็นตัวหลักในการเล่าเรื่องของเขากับเพื่อนสนิทดีน มอเรียอาร์ตี้ ซึ่งทั้งหมดเคยมีชีวิตจริงและเป็นนักเขียนสำคัญรุ่นนั้น ตามหนังสือต้นฉบับนั้น แซลเดินทางรัฐตะวันออกไปทางตะวันตก โดยหยุดบ้างเป็นระยะเพราะปัญหาเรื่องเงินและอื่น ๆ

 

 

ถ้าคุณคาดหวังว่านี่จะเป็นหนังเดินทาง "บนท้องถนน" เหมือนชื่อหนัง คุณอาจจะต้องผิดหวัง การเดินทางไม่ได้เป็นส่วนสำคัญเท่าไรนัก หนังเน้นการใช้ชีวิตของกลุ่มนักเขียนทั้งสองกับครอบครัวของพวกเขามากกว่าจะเป็นผู้คนหลากหลายหน้าตามท้องถนน โอเค เข้าใจว่าการเรียนรู้ชีวิตบางครั้งก็มิได้อยู่บนถนนทั้งหมด และเราได้เห็นแซลโบกรถตั้งแต่เริ่มเรื่อง แต่เอาเข้าจริง มันเป็นการเดินทางกลับไปกลับมาระหว่างกลุ่มเพื่อนฝูงและเครือญาติของตัวละครต่าง ๆ เหมือนการดำเนินในชีวิตจริงมากกว่า เพราะฉะนั้นความพยายามในการระบุแต่ละสถานที่ในฉากต่าง ๆ ของซาเลส ก็เหมือนเพียงป้ายบอกชื่อเมืองแต่ละเมือง รัฐแต่ละรัฐ มากกว่าจะแสดงให้เห็นความหมายในการสร้างความคิดและจุดเปลี่ยนในชีวิตของพวกเขา เหมือนอย่างที่หนังการเรียนรู้ศิลปินหรือนักเขียนหลายท่านที่เคยดู มันก็ไม่ได้เต็มที่นัก

มันเทียบไม่ได้แม้กับ Easy Rider ด้วยซ้ำ

เราได้เห็นเพียงการกระทำและเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเรียกว่านักเขียนรุ่นวัฒนธรรมบีทคืออะไร ได้เห็นการร่วมเพศอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฟรีเซ็กส์ ร่วมเพศเดียวกัน การติดยา การฉกฉวยขโมยต่าง ๆ แต่มันยังไม่สามารถให้เข้าใจจิตวิญญาณของพวกเขาเต็มที่นัก

หนังภาพสวยอย่างที่เราจะได้เห็นในหนังการเดินทางทั่วไป แต่ฉากต่าง ๆ โดยเฉพาะฉากในครอบครัวกับเพื่อน ๆ ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากนัก มันคงเป็นเพียงหนังที่จะเล่าเรื่องการดำเนินชีวิตของศิลปินนักเขียนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ....เสียดายค่ะ และโชคดีมากที่ตัวเองไม่ได้อ่านหนังสือต้นฉบับมาก่อน ก็เลยไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ไม่งั้นคงจะเสียดายมากกว่านี้

 

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.