สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
หนังสายประกวด
  อัญชลี ชัยวรพร / 17 พฤษภาคม 2555
  LINK : เมนูเทศกาลหนังเมืองคานส์
 
Share |
Print   
       
 

Day 2 / 17 พฤษภาคม

 

 

Paradise : Love ( Ulrich Seidl) - เมื่อจอหนังถูกทลายโดยหญิงอ้วนแก่

 

 

Paradise Love เป็นหนังที่นำเสนอภาพซึ่งเราจะไม่ค่อยได้เห็นนักบนจอภาพยนตร์ ทั้งในแง่อิมเมจของตัวละครนำและตัวละครรองที่ตอบสนองความเพลิดเพลินใจของพวกเธอ หญิงวัยกลางคนที่ร่วงโรยไปตามวันเวลา จนร่างการอ้วนเผละ เรียกได้ว่าทั้งอ้วนทั้งแก่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมานั้น ถ้าไม่ได้เป็นแม่หรือแม่นมของตัวละครหลักของหนัง ก็ไม่ได้รับการโฟกัสเท่าไรนัก แต่ร่างที่ไม่น่ามองนั้นได้กลายเป็นอิมเมจหลักที่เราจะได้เห็นในหนังตลอดทั้งเรื่อง ได้เห็นการแสดงออกถึงอารมณ์ของพวกเธอ เพราะฉะนั้น ภาพและเนื้อหาหลักตลอดทั้งเรื่องของหนัง ก็จะมีแต่อะไรที่ไม่น่าดูเหล่านั้น

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในการตอบสนองอารมณ์ส่วนลึกของเธอเหล่านั้น ร่างกายของหนุ่มอัฟริกันเป็นวัตถุที่ถูกจ้องมอง เพราะคุณป้าเหล่านั้นส่วนใหญ่รุ่นราวคราวแม่ พวกเธอซึ่งเดินทางมาจากอัฟริกันจากออสเตรีย มาเพื่อซื้อความสุขจากโสเภณีชายของบุรุษผิวสีเหล่านั้น เพราะฉะนั้น คุณจะได้เห็นภาพที่อาจจะทำให้ผู้ชายแท้ ๆ รู้สึกไม่เป็นสุข อาทิ จู๋ถูกถ่ายภาพ จู๋ถูกผูกโบว์เป็นของขวัญ

เรียกได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำลายภาพประเพณีเดิม ๆ ของจอหนังอย่างสิ้นเชิง เป็นครั้งแรกที่ชนชั้นกลุ่มน้อย หรือ the marginalized ถูกดึงมาเป็นศูนย์กลางของงาน

ผู้กำกกับอุลริช ซีเดิล (Ulrich Siedl) จงใจที่จะนำเสนอภาพทุกอย่างราวกับงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการคอมโพสองค์ประกอบต่าง ๆ สีสันของเสื้อผ้าในตัวละคร จนทำให้ภาพทุกภาพเหมือนกำลังดูงานศิลปะ หลายครั้งที่ภาพเปลือยของหญิงแก่ร่างอ้วนเหล่านั้นก็ดูงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสาวงามร่างบอบบางที่เราคุ้นเคย ซึ่งการเล่นสีสันเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์ของอัฟริกันเป็นฉากเบื้องหลังได้อย่างดี

 

 

เรียกได้ว่า หนังเรื่องนี้อาจจะสร้างความรู้สึกไม่สบายใจกับชายหนุ่มผิวขาวทั้งหลายมากมาย (หรืออาจจะกลุ่มผู้ชายทั่วโลกก็ได้) ขณะที่ผู้หญิง (ถ้าไม่ได้อยู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเกินเหตุ) รู้สึกว่าเป็นชัยชนะครั้งแรกบนจอเงินของข้าพเจ้า เพราะคราวนี้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือก ฉากบนชายหาดที่หญิงแก่นอนเล่นบนผ้าใบ ขณะที่กลุ่มชายหนุ่มอัฟริกันยืนนิ่งเรียงรายคู่ขนานนั้น ให้ความรู้สึกไม่แตกต่างกับนางงามในตู้กระจกตามสถานอาบอบนวดของไทย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การแหวกม่านประเพณีภาพบนจอเงินที่เราคุ้นเคยนั้น ก็ยังแฝงความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่ เมื่อชายร่างผิวดำยังคงเป็นวัตถุที่ถูกจ้องมอง แม้ว่าโดยเนื้อหาของหนังนั้น การหลับนอนกับหญิงแก่เหล่านี้เป็นความสมัครใจ แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เพราะความยากจนที่ทำให้เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อเงินนั้น ผู้กำกับซีเดิลทำได้เฉพาะกับหนุ่มผิวสีเหล่านี้ แต่คงทำกับเพื่อนร่วมเชื้อชาติทางยุโรปไม่ได้ การแบ่งชนชั้นในสังคมโลกยังมีอยู่ เช่นเดียวกับอารมณ์ปรารถนาของสาวแก่เหล่านั้นก็ถูกสรุปว่าท้ายที่สุดแล้วอารมณ์ปรารถนาของพวกเธอนั้นก็เพลิดเพลินได้เพียงชั่วขณะ ก่อนที่เธอจะต้องกลับมาเจอความจริงของสังคมต่อไปในตอนจบ

เป็นหนังที่ไม่มีทางฉายในเมืองไทยได้เลย

 

Rust and Bone (ฌาคส์ ออดิอาร์ด)

 

 

เป็นหนังที่ดูเหมือนจะไปได้สวย แม้บทจะไม่มีอะไรมากนัก เรื่องราวของอาลิ พ่อหนุ่มนักมวยลูกติดที่ยังไม่พร้อมจะรับผิดชอบอะไรใคร กับสเตฟานี อดีตนักฝึกปลาวาฬนักฆ่าที่เผอิญเกิดอุบัติเหตุจนต้องตัดขา ในยามที่ชีวิตตกต่ำอย่างสุดขีด แทบจะไร้เพื่อน เธอนึกถึงอดีตหนุ่มการ์ดดิสโก้เธคแห่งหนึ่ง ผู้ที่พาเธอออกมาเผชิญหน้ากับโลกภายนอก อาลิช่วยเหลือเธอแทบทุกอย่าง แม้แต่การทดสอบในเรื่องสมรรถภาพทางเซ็กส์ของเธอ

ฌาคส์ ออดิอาร์ด ยังคงโดดเด่นในการถ่ายทอดความสัมพันธ์ค่อนข้างแปลกของชายหนุ่มคู่นี้ จะว่าเป็นคู่รักก็ไม่ใช่ จะเป็นบัดดี้ ก็ทำไมถึงกับต้องนอนด้วยกัน การเลือกนักแสดงเบลเยี่ยมอย่างแมทเธียส์ เชินาเอิร์ทส์ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดของผู้กำกับ เพราะบุคลิกของอาลิไม่ใช่คนก้าวร้าว แต่ดูเหมือนเป็นนายทึ่มที่ไม่พูดสิ่งที่ตัวเองรู้สึก ผู้เขียนเคยดูเขารับบทเป็นคนเลี้ยงวัวที่ทึ่มชั้นดีจากหนังเรื่อง Bullhead (Guillaume Canet) ซึ่งเป็นหนังตัวแทนเบลเยี่ยมเข้าชิงออสก้าร์สาขาต่างประเทศปีนี้ พอมาดูเขาเล่นนี้แล้ว เขาก็ดูเป็นนายทึ่มที่นิยมชกมวย (แต่ไม่ได้นิยมความรุนแรง) แต่อ่อนโยน โดยแสดงความรู้สึกของตนผ่านทางสายตาเท่านั้น ขณะที่นางเอกมาเรียน โคทิลลาร์ดนั้น เธอทำได้ดีดั่งเจ้าหญิงคนชั้นกลางระดับสูงอย่างแท้จริง

 

 

หนังดูนุ่มนวลอ่อนโยนที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความรู้สึก คนดูรู้สึกร่วมรับภาวะอารมณ์เดียวกับตัวละคร ฉากที่นางเอกนอนโรงพยาบาลเมื่อเสียขาไปแล้ว ผู้กำกับของเราใช้วิธีดิสโซลบ์ฉากซ้ำ ๆ นั้นถึง 3-4 ครั้ง จนเราผู้ชมเข้าใจอารมณ์ร่วมของสเตฟานีอย่างช่วยไม่ได้

Rust and Bone มีนัยความรักข้ามชั้นอยู่ นางเอกดูเหมือนเจ้าหญิงในหมู่ชนชั้นกลาง มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าพระเอก อาชีพของเธอนั้นถูกถ่ายทอดออกมาอย่างนุ่มนวล ราวกับสร้างงานศิลปะ และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาลิต้องปิดความรู้สึกภายในไว้อย่างมิดชิด เพียงเพราะไม่อยากดึงให้เธอต่ำลง การเก็บโทนแบบนั้นไว้ ทำให้หนังดูมีพลังในตอนจบ จุดที่เด่นอีกเรื่องคือการถ่ายทอดภาพชีวิตของคนฝรั่งเศสในบริเวณทางใต้อย่างอองทิเบอะ ซึ่งสภาพความเป็นอยู่จะจนกว่าแห่งอื่น ขำ ๆ ก็คือมีฉากหนึ่งถ่ายที่คานส์เองด้วย !

แต่หนังยาวมาก และการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เรารู้สึกหลุดอยู่หลายครั้ง และอดรู้สึกไม่ได้ว่าหนังยาวไปอย่างช่วยไม่ได้

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.