สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
หนังประกวด
  อัญชลี ชัยวรพร / 16 พฤษภาคม 2555
  LINK : เมนูเทศกาลหนังเมืองคานส์
 
Share |
Print   
 

 

Day 1 / 16 พฤษภาคม

Moonrise Kingdom (by Wes Anderson)

 

 

Moonrise Kingdom รักที่ออกแบบได้

ไม่แปลกใจนักที่ทำไมผลงาน Moonrise Kingdom ของเวส แอนเดอร์สันได้เป็นหนังเปิดเทศกาล ทั้ง ๆ ที่หนังไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสเลย ไม่ว่าจะการลงทุน นักแสดงหรือฉากของเรื่อง แต่เพราะรูปแบบของหนังที่องค์ประกอบผ่านการออกแบบและการควบคุมทุกอย่างได้อย่างเกือบจะสมบูรณ์ จึงทำให้หนังกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจที่สมควรจะเป็นหนังเปิดของเทศกาลใดเทศกาลหนึ่ง  ซึ่งมันก็เป็นคานส์เในที่สุด

หนังเล่าเรื่องความรักของเด็กชายหญิงวัยสิบสอง แซมเป็นลูกกำพร้าที่อยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ ขณะที่ซูซี่อยู่กับพ่อแม่และน้องชายอีกสามคน ทั้งสองแอบรักกันและพากันหนีอยู่หลายครั้ง แต่ไม่ว่าพวกเขาจะถูกตามล่าสักกี่ครั้ง ก็ได้ีรับชัยชนะ้ในที่สุด

อ่านพล็อตแค่นี้ ชวนให้นึกถึง The Graduate ภาคผู้เยาว์ ซึ่งน่าจะมีมิติการแสวงหาความหมายของชีวิตแทรกอยู่ด้วย แต่เปล่าเลย เรื่องราวปรัชญาชีวิตเป็นเพียงส่วนประกอบ   หนังเน้นการผจญภัยกับความสัมพันธ์ของเด็กสองคนมากกว่า  ความฝันของพวกเขาในดินแดนที่แทบจะไม่ค่อยมีใครไปนักทางทิศตะวันตกของอังกฤษ บริเวณที่เกือบจะสุดแดนแผ่นดิน ที่เรียกว่า Penzance และ Land's End ในช่วงทศวรรษ 1960  นี่คือหนังผจญภัยและวิ่งหนีของเด็ก ๆ โดยมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างอยู่รอบตัว

 

 

เวส แอนเดอร์สันออกแบบหนังเรื่องนี้ให้ถ่ายทอดตามความรู้สึกนึกคิดของเด็ก   ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ เครื่องแต่งกาย หรือการแสดง มุมกล้องตั้งแต่ฉากแรกนั้น โฟกัสไปที่ตัวบ้านเป็นช่อง ๆ เหมือนกับพวกบ้านตุ๊กตาของเล่น (ซึีงโกดาร์ดเคยเอามาใช้ในฉากหนังการเมืองเรื่อง Tout Va Bien) การใช้ดอลลี่ในการเคลื่อนกล้อง รวมทั้งการแพนกล้อง ซูมเลนส์อย่างรวดเร็ว ชวนให้รู้สึกความเป็นแฟนตาซีของอาณาจักรแห่งนี้ ยังไม่รวมถึงการแสดงที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนกับการจัดวางที่เรียกว่า method acting จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เขาจะคัดนักแสดงที่มักจะโดดเด่นด้วยการแสดงท่าทางอย่างบิลล์ เมอเรย์ และฟรานเซส แมคดอร์มันด์ในเรื่องนี้

แต่เพราะหนังเล่นกับการออกแบบมากเกินไป เมื่อถึงกลางเรื่องหนังเริ่มอืดเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงที่บทไม่สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจได้ ซูซี่และแซมถูกกักบริเวณ จนเมื่อพวกเขาตัดสินใจหนีมาพบกันอีกครั้งนั่นแหล่ะ หนังเริ่มกลับมาสร้างความตื่นเต้นสนุกสนานอีกครั้ง

สิ่งที่น่าปรบมือให้คือ ผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น บิลล์ เมอเรย์ ฟรานเซส แมคดอร์มันด์ บรูซ วิลลิส ทิลดา สวินดัน เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน สองคนแรกนั้น เรารู้อยู่แล้วว่าพวกเขาถนัดในหนังแบบนี้ แต่สามคนหลังที่มักจะผ่านการแสดงแอ็คชั่น ไม่ก็การแสดงที่ออกมาจากข้างใน สามารถทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้กัน แถมทุกคนยอมรับบทเล็ก ๆ เพื่อประกอบการแสดงของเด็กนำทั้งสอง

ถ้าหาก ฟ้าทะลายโจร โดดเด่นในเรื่องการออกแบบภาพ Moonrise Kingdom ก็คือหนังที่เรียกได้่ว่าได้มีการออกแบบองค์ประกอบจนเกือบสมบูรณ์

 

 

-----------------------------------

 

After the Battle, Yousry Nasrallah

 

 

หนังอียิปต์ชื่อเรียกยากเรื่องนี้ Baad El Mawkeaa เป็นหนังอาร์ตเฮ้าส์ธรรมดาเรื่องหนึ่ง ที่ถ้าไม่ไได้เพราะความไวในการนำเสนอประเด็นการเมืองของอิยิปต์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ก็อาจยากที่จะหลุดเข้ามาในสายประกวดได้

After the Battle นำเสนอเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง จนเกิดการประท้วงของกลุ่มคนต่าง ๆ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การนองเลือดในที่สุด ตัดสลับกับเรื่องราวของนักข่าวสาวริมและมาห์โมด คนเลี้ยงม้า แม้ทั้งสองจะมีใจที่พิศวาสต่อกัน แต่ริมก็ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเขามีอะไรมากไปกว่านั้น ริมทำความสนิทสนมและช่วยเหลือครอบครัวของเขาทุกอย่าง จนภรรยาของมาห์โมดบอกให้เธอยอมแต่งงานเป็นภรรยาคนที่สอง แต่เธอปฏิเสธ ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนต่อกัน และความสนิทสนมนั้นก็นำมาซึ่งความไว้วางใจ มากพอที่ฟาติมาไม่ยอมให้ริมออกไปประจันหน้ากับการนองเลือดเพียงคนเดียว

 

 

เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เล่าเรื่องผ่านบุคคลทั้งสาม แม้ว่าฉากการเมืองในหนังที่เกิดขึ้นบนถนนนั้นจะมีพลังการเคลื่อนไหวอยู่มาก หลาย ๆ ตอนมาจากการบันทึกเหตุการณ์จริง หลาย ๆ ตอนเป็นการถ่ายทำขึ้นเพื่อหนังโดยเฉพาะ แต่ผู้กำกับก็ประสานรวมเป็นเส้นเดียวกันได้อย่างดี

แต่เพราะเรื่องราวของคนสามคนนั้นมันยาวมากและฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ประกอบกับเรื่องราวแบบนี้นั้น เราเห็นมามากแล้วจากสังคมไทยและเหตุการณ์เมืองในโลก ว่าไปแล้วความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับคนเลี้ยงม้าอย่างมาห์โมด ก็ไม่แตกต่างจากทองปาน จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ถ้าเขาจะอุทานในตอนหนึ่งเหมือนทองปานเลย กับการเข้าร่วมประท้วงของเขานั้นมันไม่ได้ช่วยชีวิตเขาให้ดีขึ้น นอกจากนั้นภาพของริม นักข่าวสาวนั้น ไม่สามารถทำให้เราเชื่อว่าเธอเป็นแอ็คติวิสท์ เธอดูสวยหรูน่าจะบนสนามแคทวอล์คแห่งใดแห่งหนึ่งมากกว่า

รายละเอียดเล็ก ๆ ที่น่าสนใจจุดหนึ่งคือการเชื่อมโยงความฝันของคนเลี้ยงม้ากับความผูกพันที่มีต่อปิรามิด การปีนขึ้นสู่ยอดปิรามิดเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งในชีวิตเขา ซึ่งว่าไปแล้วมันแสดงนัยการก้าวขึ้นสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัวและตัวเขา หนังมีฉากดราม่าอย่างไม่ตั้งใจในเรื่องความรักในการเลี้ยงม้าที่สานต่อมายังลูกเขาอย่างไม่ได้ตั้งใจ และเท่ากับที่หนังพลาดประเด็นใหญ่ไปว่า ริม สามารรถมาหลงรักจนถึงจูบกันครั้งแรกที่เจอกับคนเลี้ยงม้าได้อย่างไร ในความเป็นจริง การก้าวข้ามสถานะทางชนชั้นมิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายนักในสังคมอียิปต์

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.